"The ultimate aim of education is the development of character"

การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study)

การพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูผู้สอนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

     การพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูผู้สอนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เป็นกระบวนการที่ฝ่ายวิชาการฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูผู้สอนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย บนพื้นฐานการทำงานร่วมกันของครูผู้สอนในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดระดับสูง ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียนในทุกระดับชั้น ซึ่งจะกำหนดแนวทางของการวิเคราะห์ การออกแบบการเรียนการสอน การสังเกตชั้นเรียน การสะท้อนผล การตรวจสอบ การสรุปองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดเก็บและการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยอาศัยหลักการและแนวทางของการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) การพัฒนาทักษะการคิดระดับสูง (Higher Ordered Thinking Skills) การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation) การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research) การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน (Technology for Instruction) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

     แนวคิดในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูผู้สอนจะเน้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) ผ่านการปฏิบัติงานจริงในหน้าที่รับผิดชอบ (Action Learning) ของครูผู้สอนด้วยกิจกรรมที่ร่วมกัน เรียนรู้-สร้างสรรค์-ปฏิบัติ-ตรวจสอบ-ปรับปรุง-แบ่งปัน อย่างเป็นระบบตามขั้นตอนที่กำหนด 

Previous slide
Next slide

การสะท้อนคิด

การสะท้อนคิด เป็นกระบวนการทางปัญญาที่ดำเนินร่วมกันระหว่างครูผู้สอนและครูที่เข้าสังเกตชั้นเรียนซึ่งเป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการสอนและการสังเกตชั้นเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ อภิปรายผล และให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์แก่ครูผู้สอนที่สามารถนำไปปรับปรุง/พัฒนาการจัดการเรียนการสอนในครั้งต่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการพัฒนาบทเรียนร่วมกันและการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ในโรงเรียน
กระบวนการของการสะท้อนคิด มีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอนดังนี้
   ขั้นที่ 1 การสะท้อนคิดโดยครูผู้สอน (Reflect) ครูผู้สอนเล่าถึงที่มาและสถานการณ์ของการปฏิบัติการสอนตามแผนการสอนที่กำหนด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายบริบท ลักษณะ/วิธีดำเนินการจัดการเรียนการสอน ข้อจำกัด และข้อค้นพบจากการสอนที่ได้ดำเนินการแล้วไปให้ครูในกลุ่มได้ทราบ
   ขั้นที่ 2 การสืบสอบผลและการสะท้อนคิด (Debrief & Reflect) โดยครูผู้สังเกตชั้นเรียนมี 2 ขั้นตอน
        2.1 การสืบสอบผล (Debrief) เป็นการที่ครูผู้สังเกตชั้นเรียนใช้คำถามในประเด็นที่สงสัยหรือประเด็นที่เห็นว่าเป็นจุดที่ควรมีการปรับปรุง/พัฒนาโดยใช้ข้อเท็จจริงจากการสังเกตชั้นเรียน จากนั้น มีการอภิปรายร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ระหว่างครูผู้สอนและครูที่สังเกตชั้นเรียน
        2.2 การสะท้อนคิด (Reflect) เป็นการที่ครูผู้สังเกตชั้นเรียน แสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะแก่ครูผู้สอน
ขั้นที่ 3 การกำหนดแนวทางการปรับปรุง/พัฒนา (Re-design) เป็นการที่ครูผู้สอนรวบรวมข้อมูลจากการสะท้อนคิด (ขั้นตอนที่ 1 และ 2) วิเคราะห์ เลือกข้อเสนอแนะที่เหมาะสม นำมากำหนดเป็นแนวทางในการปรับปรุง/พัฒนาแผนการจัดการเรียนการสอนในครั้งต่อไป โดยอาจแยกเป็นด้านต่าง ๆ ตามองค์ประกอบของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งได้แก่
         1) ด้านการวิเคราะห์และการเตรียมความพร้อมของผู้เรียน
         2) ด้านการจัดการเนื้อหา
         3) ด้านการวิเคราะห์และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้
         4) ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
         5) ด้านการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้
         6) ด้านการวัดและประเมินผล
         7) ด้านการจัดสภาพแวดล้อมและการจัดการชั้นเรียน
         8) ด้านอื่น ๆ
ครูผู้สอนบันทึกข้อมูลลงในแบบบันทึกการสะท้อนคิดในหัวข้อ “แนวทางการปรับปรุง/พัฒนา สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนการสอนในครั้งต่อไป”

แผนกพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมคุณภาพครูและบุคลากร : 2565