"The ultimate aim of education is the development of character"

ประวัติของโรงเรียน

ยุคที่ 1 ยุคเริ่มต้น

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะรับเอาศิลปวิทยาการของชาติตะวันตก เข้ามาพัฒนาบ้านเมือง โดยพระราชทานพระราชานุญาต ให้คณะมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทยสามารถเดินทางไปเผยแพร่ศาสนายังหัวเมืองต่าง ๆ ได้ ในสมัยพระจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 ครอบครัวของศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี และศาสนาจารย์โจนาธานวิลสัน มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน เดินทางมาเชียงใหม่โดยทางเรือใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 เดือน ถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2410 ได้เริ่มต้นบุกเบิกวางรากฐานคริสต์ศาสนาในเชียงใหม่และแถบล้านนา โดยมุ่งเน้นพันธกิจสามประการคือเผยแพร่ศาสนา รักษาโรค และจัดการศึกษาแบบตะวันตก มีการจัดตั้งคริสตจักรเพื่อเผยแพร่ศาสนาและรักษาโรคตามวิธีการแพทย์แผนใหม่ โดยขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งคริสตจักรแห่งแรกขึ้น ในปี พ.ศ.2411  

ยุคที่ 2 โรงเรียนชายวังสิงห์คำ

      หลังจากคริสต์ศาสนาเข้ามาสู่เชียงใหม่ได้ 20 ปี ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ศาสนาจารย์เดวิด กรอมเลย์ คอลลินส์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบอร์ดมิชชั่นให้จัดตั้งโรงเรียน ได้ตั้งโรงเรียนชายแห่งแรกขึ้น ณ บ้านวังสิงห์คำ โดยให้ชื่อว่า Chiengmai Boys’ School หรือเรียกกันว่า โรงเรียนชายวังสิงห์คำ สภาพของโรงเรียนมีอาคารเรียนหลังเดียว แบ่งเป็น 4 ห้องเรียน มีครูรุ่นแรกเพียง 4 คน คือ ครูศรีโอ๊ะ ครูบุญทา  ครูแดง และครูน้อยพรหม  โรงเรียนเริ่มเปิดทำการในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2430 ระยะแรกสอนด้วยภาษาพื้นเมือง มีการเรียนเลขเศษส่วนและทศนิยมควบคู่ไปกับการเรียนพระคัมภีร์ ต่อมาใช้จดหมายของอาจารย์ศรีโหม้ วิชัย ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่คนแรกที่ไปสหรัฐอเมริกาเขียนมาจากนครซานฟรานซิสโกเป็นหนังสือเรียนด้วย 

 

      ในปี พ.ศ.2438 ศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีส ได้เดินทางมารับตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่ จนถึงปี พ.ศ.2442 ได้รับมอบตำแหน่งครูใหญ่ต่อจากศาสนาจารย์คอลลินส์ ซึ่งมีภารกิจในการบุกเบิกการพิมพ์ในล้านนา สภาพของโรงเรียนในขณะนั้นมีพื้นที่จำกัดไม่อาจขยาย นักเรียนไม่มีสนามให้เล่น มีครูสอน 6 คน คือ ครูศรีโอ๊ะ (อินทพันธุ์) ครูบุญทา ครูแดง ครูน้อยพรม (ไชยวงศ์) ครูอินแก้ว และครูคำอ้าย มีการสอนพระคัมภีร์ สอนอ่านเขียนอักษรพื้นเมือง คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษเบื้องต้น มีนักเรียน 81 คน โรงเรียนไม่เก็บค่าเล่าเรียน รวมทั้งค่าอาหารที่พัก เปิดเรียนในฤดูร้อน ส่วนฤดูฝนนักเรียนจากชนบทจะกลับไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนา เสร็จสิ้นฤดูทำนาต้องติดตามให้กลับมาเรียนอีก

ยุคที่ 3 ยุคบุกเบิก

      เนื่องจากสถานที่ตั้งโรงเรียนคับแคบ ศาสนาจารย์แฮรีส จึงคิดขยับขยาย จึงได้ขอรับบริจาคเพื่อซื้อที่ดินจำนว 22 ไร่ จากบริษัทบอร์เนียว ซึ่งที่ดินดังกล่าวคือที่ตั้งโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยในปัจจุบัน และสร้างอาคารหลังแรกคือ บ้านแฮรีส เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทรงแคลิฟอร์เนียเพื่อเป็นที่พักและสำนักงาน ในปี พ.ศ.2447 ส่วนอาคารเรียนเป็นโรงเรือนโล่งๆ  มุงด้วยหญ้าคา ต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 75 ไร่

      ปีพ.ศ.2449 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ร.6) เสด็จประพาสมณฑลพายัพและเสด็จเยี่ยมโรงเรียนตามคำกราบบังคมทูลเชิญของศาสนาจารย์แฮรีส ทรงวางศิลารากอาคารบัทเลอร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรก พร้อมทั้งมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามโรงเรียนว่า “The Prince Royal’s College” เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2448 ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 2 มกราคมของทุกปี เป็นวันก่อตั้งโรงเรียน และโรงเรียนได้ใช้สีน้ำเงินและสีขาวเป็นสีประจำโรงเรียน ศาสนาจารย์แฮรีส ใช้เวลาในการอุทิศ ทุ่มเทชีวิตเพื่อโรงเรียนถึง 46 ปี จึงเกษียณอายุและเดินทางกลับไปพำนัก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2483

       ปี พ.ศ. 2484 ดร. เคนเนท อี แวลส์ ได้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ จนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา โรงเรียนถูกรัฐบาลเข้ายึดในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของอเมริกันซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ 700 กว่าคนและเปิดเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ ให้นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจากกรุงเทพฯ ย้ายมาเรียนที่เชียงใหม่เพื่อหลบภัยสงคราม จนกระทั่งยุติสงครามจึงคืนกิจการให้โดย ดร. เคนเนท อี แวลส์ ได้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง จากนั้นอีกระยะหนึ่งจึงได้โอนกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของโรงเรียนให้เป็นของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย 

ยุคที่ 4 ยุคปัจจุบัน

      ปี พ.ศ.2496 อาจารย์ หมวก ไชยลังการณ์ ได้เข้ารับตำแหน่งครูใหญ่ ซึ่งเป็นชาวไทยคนแรกและเกษียณอายุในปี พ.ศ.2511 ในช่วงนั้นทางโรงเรียนได้จัดตั้ง “แผนกสหเตรียมอุดมศึกษาปรินส์ – ดารา” ขึ้นในระดับมัธยมศึกษาในปี พ.ศ. 2499 อันเป็นจุดเริ่มต้นของชั้นเรียนแบบสหศึกษาของโรงเรียน นอกจากนี้ยังเป็นยุคที่วงดุริยางค์ PRC เข้าสู่ยุคสากล โดยการดูแลของอาจารย์ เบทซี กุยเยอร์ (Mrs. Betsy Guyer) และในปี พ.ศ.2505 เปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนในชั้นมัธยมปลายเป็นรุ่นแรก

 

ปี พ.ศ.2511 อาจารย์ กำราบ ไชยาพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งครูใหญ่ และลาออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ.2512
ปี พ.ศ.2512 ดร.จำรูญ ไชยลังการณ์ รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่จนเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ. 2534
ปี พ.ศ.2534 อาจารย์พงษ์ ตนานนท์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการจนเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ. 2548
ปี พ.ศ.2536 รับนักเรียนหญิงเข้าเรียนในชั้นอนุบาล 3 เป็นรุ่นแรก
ปี พ.ศ. 2548 ดร.สิริลักษณ์  เฟื่องกาญจน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการจนเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2554
ปี พ.ศ. 2555 ดร.สิรินันท์  ศรีวีระสกุล เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการและเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2564
ปี พ.ศ. 2565 ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร เข้ารับตำแหน่งรักษาการผู้จัดการ-ผู้อำนวยการ 

ปัจจุบันโรงเรียนจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย (อนุบาล 3) จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 6,738 คน มีครู บุคลากร เจ้าหน้าที่ คนงาน รวม 631 คน มีอาคารเรียน 32 หลังและ อาคารประกอบ 13 หลัง ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ 88 ไร่เศษ โดยมีมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาต